ประวัติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช

ใส่ความเห็น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระนามเดิมว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ เล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ และหม่อมสังวาล ตะละภัฎ (ภายหลังทรงได้รับ การเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น
สมเด็จมหิตลาธิเบศอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน อ้าย ปี เถาะ จุลศักราช ๑๒๘๙ ตรงกับวันจันทร์ ที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐ ณ โรงพยาบาลเมานท์ออเบอร์น เมืองเคมบริดจ์ มลรัฐแมสซาชูเซสส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระอนุชาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และทรงมีพระเชษฐภคินีอีก ๑ พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้า พี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
ทรงเข้าศึกษาใน ชั้นประถมศึกษาที่ โรงเรียนเมียร์มองค์ จากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อในชั้นมัธยมศึกษา ณ โรงเรียน เอกอลนูเวลเดอลาซืออิสโรมองต์ เมืองโลซานน์ ทรงได้รับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์จากยิมนาสกลาซีคกังโตนาล แล้วจึงทรงเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยโลซานน์ โดยทรงเลือก ศึกษาในแขนงวิชาวิศวกรรมศาสตร์
หลังจากที่พระวรวงค์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระเชษฐาเสด็จขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๘ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิ พลอดุลยเดช ก็ทรงได้ รับสถาปนาฐานันดรศักดิ์เป็น สมเด็จ พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าชายภูมิ พลอดุลยเดช เมื่อเดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๗๔ โดยประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ครั้นเมื่อถึงวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระนาม ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
อย่างไรก็ตามขณะเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงมีพระชนมายุ ๑๙ พรรษา รัฐสภาจึงทำการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการขึ้นประกอบไปด้วย พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนชัยนาถนเรนทร และพระยามานวราชเสวี เพื่อทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินแทนจนกว่าจะทรงบรรลุนิติภาวะ และเพราะยังทรงมีพระราชภารกิจด้านการศึกษา จึงต้องทรงเสด็จพระราชดำเนินกลับไปประเทศสวิสเซอร์แลนด์ อีกครั้งหนึ่ง ในเดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๙ เพื่อทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม แต่ในครั้งนี้ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมาย และวิชารัฐศาสตร์แทนวิชาวิศวกรรรมศาสตร์ที่ทรงศึกษาอยู่เดิม
ถัดมาในวันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีราชาภิเษกขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณในพระบรมมหาราชวังเฉลิมพระบรมนามาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรนฤบดินทร สยามมินทราธิราชบรมนาถบพิตร พร้อมทั้งพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุข แห่งมหาชนชาวสยาม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นสืบราชสันตติวงศ์ต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๙ แห่งบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เป็นเวลา ๖๐ ปีที่พระองค์ทรงดำรงฐานะเป็นพระประมุขของชาติ เป็นระยะเวลาการครองราชย์ที่ยาวนานกว่ามหาราชาองค์ใดในโลกและบูรพกษัตริย์ องค์ใดในแดนสยาม และเป็นเวลา ๖๐ ปีนี้เอง ที่พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกาย พระสติปัญญาความสามารถ และพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอยู่เป็นนิจนานัปการ ด้วยหวังให้มหาชนชาวสยามถึงพร้อมด้วยประโยชน์สุข ซึ่งเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ตั้งแต่สมัยเมื่อเสด็จขึ้นเถ ลิงถวัลยราชสมบัติ ดังพระปฐมบรมราชโองการที่ได้พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทยเมื่อครั้งพระราชพิธี บรมราชาภิเษก วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนชาวสยาม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดพระองค์หนึ่งของโลก พระราชกรณียกิจของพระองค์มีมากมาย ทั้งในด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านศาสนา ด้านความมั่นคงภายในประเทศ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้านศิลปะวัฒนธรรม และด้านการกีฬา แต่พระราชกรณียกิจหลักของพระองค์คือ การยกระดับสภาพความเป็นอยู่ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยพระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปยังท้องที่ต่างๆ พร้อมทอดพระเนตรสภาพปัญหาในท้องที่เหล่านั้นด้วยพระองค์เอง พระองค์จะใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละปี เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนักตามภูมิภาคต่างๆ และจะทรงหาโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียงอยู่เสมอ จนอาจกล่าวได้ว่า ไม่มีพื้นที่แห่งใดในประเทศไทย ที่พระองค์ไม่เคยเสด็จพระราชดำเนินไปถึง
ตลอด ๖๐ ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลา ๖๐ ปีที่พระองค์ทรงงานอย่างไม่เคยว่างเว้น และทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่ถึงพร้อมทั้งความบริสุทธิ์บริบูรณ์ ตลอด ๖๐ ปีที่ผ่านมา จึงเป็นช่วงเวลา ๖๐ ปีที่พสกนิกรชาวไทยอยู่ได้อย่างร่มเย็นเป็นสุขภายใต้ร่มพระบารมี พระราชกรณียกิจทั้งหลายที่พระองค์ทรงบำเพ็ญ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ที่พระองค์ทรงมีต่อประเทศชาติ และประชาชนชาวไทย

ประวัติสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ใส่ความเห็น


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระพุทธเจ้าหลวง ทรงเป็นรัชกาลที่ 5 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอังคาร เดือน 10 แรม 3 ค่ำ ปีฉลู 20 กันยายน พ.ศ. 2396 เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ 1 ในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เสวยราชสมบัติ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง (พ.ศ. 2411) รวมสิริดำรงราชสมบัติ 42 ปี เสด็จสวรรคต เมื่อวันเสาร์ เดือน 11 แรม 4 ค่ำ ปีจอ (23 ตุลาคม พ.ศ. 2453) ด้วยโรคพระวักกะ รวมพระชนมพรรษา 58 พรรษา

พระองค์ทรงปกครองอาณาประชาราษฎร ให้ร่มเย็นเป็นสุข ทรงโปรดการเสด็จประพาสต้น เพื่อให้ได้ทรงทราบถึงความเป็นอยู่ที่แท้จริงของราษฎร ทรงสนพระทัยในวิชาความรู้ และวิทยาการแขนงต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง และนำมาใช้บริหารประเทศให้ เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว พระองค์จึงได้รับถวายพระราชสมัญญานามว่า สมเด็จพระปิยมหาราช และมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ (ต่อมาภายหลังในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการเปลี่ยนแปลงพระนามเจ้านายฝ่ายในให้ถูกต้องชัดเจนตามโบราณราชประเพณีนิยมยุคถัดมาเป็น สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี) ได้รับพระราชทานนามว่า สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพมหามงกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์วรุตมพงศบริพัตร สิริวัฒนราชกุมาร

พระองค์ทรงมีพระขนิษฐาและพระอนุชารวม 3 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ และ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2404 สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ ได้รับการสถาปนาให้ขึ้นทรงกรมเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ และเมื่อ พ.ศ. 2409 พระองค์ทรงผนวชตามราชประเพณี ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ภายหลังจากการทรงผนวช พระองค์ได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ เมื่อปี พ.ศ. 2410 โดยทรงกำกับราชการกรมมหาดเล็ก กรมพระคลังมหาสมบัติ และกรมทหารบกวังหน้า

วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตภายหลังทรงเสด็จออกทอดพระเนตรสุริยุปราคา โดยก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสวรรคตนั้น ได้มีพระราชหัตถเลขาไว้ว่า “พระราชดำริทรงเห็นว่า เจ้านายซึ่งจะสืบพระราชวงศ์ต่อไปภายหน้า พระเจ้าน้องยาเธอก็ได้ พระเจ้าลูกยาเธอก็ได้ พระเจ้าหลานเธอก็ได้ ให้ท่านผู้หลักผู้ใหญ่ปรึกษากันจงพร้อม สุดแล้วแต่จะเห็นดีพร้อมกันเถิด ท่านผู้ใดมีปรีชาควรจะรักษาแผ่นดินได้ก็ให้เลือกดูตามสมควร” ดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเสด็จสวรคต จึงได้มีการประชุมปรึกษาเรื่องการถวายสิริราชสมบัติแด่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ ซึ่งในที่ประชุมนั้นประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และพระสงฆ์ โดยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ ได้เสนอสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งที่ประชุมนั้นมีความเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์ ดังนั้น พระองค์จึงได้รับการทูลเชิญให้ขึ้นครองราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระราชบิดา โดยในขณะนั้น ทรงมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ดังนั้น จึงได้แต่งตั้งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนกว่าพระองค์จะทรงมีพระชนมพรรษครบ 20 พรรษา โดยทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีพระนามตามจารึกในพระสุบรรณบัฎว่า

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฏ บุรุษรัตนราชรวิวงศ วรุตมพงศบริพัตร วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ อดิศวรราชรามวรังกูร สุภาธิการรังสฤษดิ์ ธัญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประนตบาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดม บรมสุขุมมาลย์ ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณอดุลยวิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ วิสิษฐศักดิ์สมญาพินิตประชานาถ เปรมกระมลขัติยราชประยูร มูลมุขราชดิลก มหาปริวารนายกอนันต มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษสิรินทร อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิ์วรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปดลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษกาภิลิต สรรพทศทิศวิชิตชัย สกลมไหสวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทร มหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวศรัย พุทธาทิไตยรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิ์อรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการสกลไพศาล มหารัษฎาธิบดินทร ปรมินทรธรรมิกหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว”

ในขณะที่กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗ ปรากฏพระปรมาภิไธยต่างออกไปเล็กน้อย ดังนี้

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฏ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศบริพัตร วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ มหามงกุฎราชวรางกูร สุจริตมูลสุสาธิต อรรคอุกฤษฏไพบูลย์ บุรพาดูลย์กฤษฎาภินิหาร สุภาธิการรังสฤษดิ์ ธัญลักษณวิจิตร โสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประณต บาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดมบรมสุขุมมาลย์ ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ วิสิษฐศักดิ์สมญาพินิตประชานาถ เปรมกระมลขัติยราชประยูร มูลมุขมาตยาภิรมย์ อุดมเดชาธิการ บริบูรณ์คุณสารสยามาทินครวรุตเมกราชดิลก มหาปริวารนายกอนันต์มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษสิรินธร อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิ์วรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษกาภิลิต สรรพทศทิศวิชิตชัย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิ์อรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการ สกลไพศาลมหารัษฎาธิบดินทร ปรมินทรธรรมิกหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”

เมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมายุครบ 20 พรรษา จึงทรงลาผนวชเป็นพระภิกษุ และได้มีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ขึ้น เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยในครั้งนี้ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีพระนามตามจารึกในพระสุบรรณบัฎว่า

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฏ บุรุษรัตนราช รวิวงศ วรุตมพงศบริพัตร วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ อดิศวรราชรามวรังกูร สุจริตมูลสุสาธิต อรรคอุกฤษฏไพบูลย์ บุรพาดูลย์กฤษฎาภินิหาร สุภาธิการรังสฤษดิ์ ธัญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประณต บาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดมบรมสุขุมมาลย์ ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ วิสิษฐศักดิ์สมญาพินิตประชานาถ เปรมกระมลขัติยราชประยูร มูลมุขมาตยาภิรมย์ อุดมเดชาธิการ บริบูรณ์คุณสารสยามาทินครวรุตเมกราชดิลก มหาปริวารนายกอนันต์ มหันตวรฤทธิเดช สรรวิเศษสิรินทร อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิ์วรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปดลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษกาภิลิต สรรพทศทิศวิชิตชัย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิ์อรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการ สกลไพศาลมหารัษฎาธิบดินทร ปรมินทรธรรมิกหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตด้วยโรคพระวักกะ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 เวลา 2.45 นาฬิกา รวมพระชนมายุได้ 58 พรรษา

ประวัติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

ใส่ความเห็น


พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีพระนามเดิมว่า ด้วง หรือ ทองด้วง ประสูติ ณ กรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2279 เป็นบุตรของพระอักษรสุนทร (ทองดี) ข้าราชการอาลักษณ์ กับท่านหยก ธิดาเศรษฐี เมื่อพระชนมายุได้ 12 ปี ได้เข้าถวายตัวเป็นฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต ครั้นเมื่ออุปสมบทแล้วจึงได้เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวง ครั้นมีพระชันษา 25 ปี ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น หลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรีเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึกได้ 1 ปี ท่านได้เข้ามารับราชการในกรุงธนบุรี ในตำแหน่ง พระราชวรินทร์ ในกรมพระตำรวจหลวง ได้ทรงเป็นกำลังสำคัญในการกู้บ้านเมืองหลายครั้งหลายคราว ตั้งแต่พระชนมายุได้ 32 พรรษา จนถึง 47 พรรษา ทรงกรำศึกสงครามมากมาย เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2301 ได้โดยเสด็จสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ไปปราบเจ้าพิมาย พ.ศ. 2312 เป็นแม่ทัพไปตีเมืองกัมพูชา ตีได้เมืองพระตะบองและเมืองเสียมราฐ ด้วยความดีความชอบในการสงครามอย่างมากมาย ต่อมาใน พ.ศ. 2313 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศและบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น พระยายมราชและเจ้าพระยาจักรี ตามลำดับ และยังเป็นแม่ทัพในการรบกับพม่าอีกหลายครั้งเริ่มตั้งแต่การตีเอาเมืองเชียงใหม่คืนจากพม่า และได้เคยรบกับอะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพคนสำคัญของพม่าที่เมืองพิษณุโลก จนถึงกับแม่ทัพพม่าขอเจรจาหยุดรบเพื่อขอดูตัว และได้กล่าวยกย่องสรรเสริญว่า “ท่านนี้รูปก็งาม ฝีมือก็เข็มแข็งอาจสู้รบกับเราผู้เฒ่าได้ จงอุตสาห์รักษาตัวไว้ ภายหน้าจะได้เป็นกษัตริย์เป็นแท้” พระองค์ได้รับราชการในกรุงธนบุรีจนกระทั่งได้เลื่อนยศและบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระมหากษัตริย์ศึก เพราะเหตุที่ได้รับพระราชทานเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม ประชาชนจึงขนานพระนามว่า “สมเด็จเจ้าพระยา”

ครั้นปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้เกิดการจลาจลขึ้นในกรุง กล่าวคือ กรรมบันดาลให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีพระอัธยาศัยผิดปกติไปจากพระองค์เดิม ก่อความเดือดร้อนให้แก่ปวงชนทั้งภิกษุและฆราวาส พระยาสวรรค์กับพวกจึงคิดการกบฏ ควบคุมองค์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไปขังไว้แล้วตนออกว่าราชการแทน จึงเกิดความกันระหว่างทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายกบฏกับฝ่ายต่อต้านกบฏ ขณะนั้นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกำลังไปราชการ ทัพอยู่ที่ประเทศกัมพูชา ทราบข่าวการจลาจลจึงรีบยกทัพกลับกรุงธนบุรี เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ราษฎรเป็นจำนวนมากต่างพากันชื่นชมยินดี ออกไปต้อนรับ ต่างขอให้ช่วยปราบยุคเข็ญ ครั้นมาถึงพระราชวัง ข้าราชการ ทั้งปวงก็พากันอ่อนน้อมแล้วอัญเชิญเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินธร มหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2325 นับเป็นองค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

ประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ใส่ความเห็น

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 มีพระนามเดิมว่า สิน (ชื่อจีนเรียกว่า เซิ้นเซิ้นซิน)[6] พระราชบิดาเป็นจีนแต้จิ๋ว ได้สมรสกับหญิงไทยชื่อ นกเอี้ยง ภายหลังเป็นกรมสมเด็จพระเทพามาตย์ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในสมัยอาณาจักรธนบุรี ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา[7] เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2310 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เมื่อมีพระชนมายุได้ 48 พรรษา รวมสิริดำรงราชสมบัติ 15 ปี พระราชโอรส-พระราชธิดา รวมทั้งสิ้น 30 พระองค์[5]

พระราชกรณียกิจที่สำคัญในรัชสมัยของพระองค์ คือ การกอบกู้เอกราชจากพม่าภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง โดยขับไล่ทหารพม่าออกจากราชอาณาจักรจนหมดสิ้น และยังทรงทำสงครามตลอดรัชสมัยเพื่อรวบรวมแผ่นดินซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของขุนศึกก๊กต่าง ๆ ให้เป็นปึกแผ่น เช่นเดียวกับขยายพระราชอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูประเทศในด้านต่าง ๆ ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติหลังสงคราม ทรงส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรม และการศึกษา เนื่องจากพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อแผ่นดินไทย รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน” และยังทรงได้รับสมัญญานามมหาราช

ประวัติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ใส่ความเห็น

พระราชประวัติ
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเป็นพระโอรสของพระเจ้าปราสาททอง
และ พระนางเจ้าสิริกัลยานี อัคร-ราชเทวีพระราชมารดาเป็น พระราชธิดา
ในสมเด็จพระ-เจ้าทรงธรรม เสด็จพระราช-สมภพ เมื่อ วันจันทร์
เดือนยี่ ปีวอก พ.ศ. 2175

ครองราชย์
การครองราชย์ราชวงศ์ปราสาททองทรงราชย์ พ.ศ.2199- พ.ศ. 2231
ระยะเวลาครองราชย์32 ปี พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 27
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตอนปลายรัชกาลก่อนหน้าสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา
รัชกาลถัดมาสมเด็จพระเพทราชา สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เสด็จสวรรคต พ.ศ. 2231

พระราชกรณียกิจ
ด้านการทหาร
ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ทรงปราบปรามเมืองน้อยใหญ่
ให้เป็นมาสวามิภักดิ์ ทั้งหัวเมืองทางเหนือ เช่น เชียงใหม่ ลำพูน
ส่วนศึกกับพม่าแม้จะมีอยู่ในเวลานี้ แต่ก็ทรงจัดทัพตีพ่ายกลับไปอยู่เนืองๆ
กิจการของกองทัพนับว่ารุ่งเรืองและยิ่งใหญ่สมเด็จพระนารายณ์
เองก็ทรงชำนาญในการศึก คล้องช้าง และทรงซื้ออาวุธจากต่างชาติ
สำหรับกิจการของกองทัพด้วย

ประวัติสมเด็จพระเอกาทศรถ

ใส่ความเห็น

พระนามเต็ม”พระศรีสรรเพชญ์ สมเด็จบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิ สวรรยาราชาธิบดินทร์ องค์ปรมาธิเบศร ตรีภูวเนตร นาถนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวสัย สมุทัย ตโรมนต์ สกลจักรวาฬาธิเบนทร สุริเยนทราธิบดินทร หริหรินทรา ธาดาธิบดีศรีวิบุลย คุณรุจิตรฤทธิราเมศวรธรรมิกราชเดโชไชย พรหมเทพาดิเทพตรีภูวนาธิเบศร โลกเชษฐวิสุทธิคตา มกุฎเทศมหาพุทธางกูร บรมบพิตร”

ก่อนขึ้นครองราชสมบัติหลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง เมื่อปีพ.ศ. 2127 สมเด็จพระเอกาทศรถก็ได้เสด็จออกร่วมทำการรบคู่กับสมเด็จพระนเรศวร ได้โดยเสด็จในการทำศึกสงครามด้วยทุกครั้งนับแต่นั้นมาจนสิ้นรัชสมัยเสมอเหมือนพระเจ้าแผ่นดินและให้ประทับอยู่ที่พระราชวังจันทร์เกษมในกรุงศรีอยุธยา

หลังขึ้นครองราชสมบัติเมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2148 พระองค์ก็ได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระนเรศวร ในปีเดียวกันในรัชสมัยของพระองค์ บ้านเมืองเป็นปกติสุข เป็นที่เคารพยำเกรงแก่ประเทศเพื่อนบ้าน อันเป็นผลจากการที่สมเด็จพระนเรศวร และพระองค์เองได้ทรงสร้างอานุภาพ ของราชอาณาจักรอยุธยาไว้อย่างยิ่งใหญ่ มีพระราชอาณาเขตแผ่ออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาลเกินกว่ายุคใดๆของไทย พระองค์ทรงเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาทำศึกมาตลอดการครองราชย์ของสมเด็จพระนเรศวร จึงไม่มีพระราชประสงค์จะแผ่พระราชอาณาเขตออกไปอีก และหันมาเน้นทางการปกครองบ้านเมืองแทน

ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีชาวต่างประเทศอาศัยในกรุงศรีอยุธยาอยู่มากจึงมีการยอมรับชาวต่างชาติเข้ามาเป็นทหาร เรียกว่า ทหารอาสา โดยได้จัดแบ่งออกเป็นพวก ๆ ตามเชื้อชาติ และตามความชำนาญในการรบ เกิดหน่วยทหารอาสาขึ้นหลายหน่วย เช่น กรมอาสาญี่ปุ่น กรมอาสาจาม กรมทหารแม่นปืน (โปรตุเกส) นอกจากนั้นในรัชสมัยของพระองค์ ยังมีชื่อเสียงในด้านความสามารถหล่อปืนใหญ่สำริดที่มีคุณภาพสูง ซึ่งน่าจะได้เรียนรู้มาจากโปรตุเกสและฮอลันดา เมื่อมาผสมผสานกับขีดความสามารถ ในด้านการหล่อโลหะของไทยที่มีการหล่อ ระฆังและพระพุทธรูป ที่มีมาแต่เดิม จึงทำให้การหล่อปืนใหญ่ของไทยในครั้งนั้นเป็นที่ยกย่องชมเชยไปถึงต่างประเทศ ดังจะเห็นได้จากการที่โชกุนของญี่ปุ่น ได้มีหนังสือชมเชยคุณสมบัติของปืนใหญ่ไทยเป็นอันมาก พร้อมกับขอให้ไทยช่วยหล่อปืนใหญ่ให้อีกด้วย (โชกุนของญี่ปุ่นในรัชสมัยของพระองค์คือโชกุนโทะกุงะวะ อิเอะยะซุ)

ประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ใส่ความเห็น

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๒ มีพระนามเดิมว่า พระองค์ดำ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาและพระวิสุทธิกษัตริย์ (พระราชธิดาของสมเด็จพระศรีสุริโยทัยและสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2098 ที่พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลกมีพระเชษฐภคินีคือ พระสุพรรณกัลยา มีพระอนุชาคือ สมเด็จพระเอกาทศรถ (องค์ขาว) และเป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย พระนามของพระองค์ปรากฏในลายลักษณ์อักษรหลายฉบับ เช่น พระนเรศ วรราชาธิราช, พระนเรสส, องค์ดำ จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าพระนาม นเรศวรได้มาจากที่ใด สันนิษฐานเบื้องต้นว่า เพี้ยนมาจาก สมเด็จพระนเรศ วรราชาธิราช มาเป็น สมเด็จพระนเรศวร ราชาธิราช เสด็จขึ้นครองราชเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2133 สิริรวมการครองราชสมบัติ 15 ปี เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2148 รวมพระชนมพรรษา 50 พรรษา

ราชการสงครามในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่งของชาติไทย พระองค์ได้กู้อิสรภาพของไทยจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก และได้ทรงแผ่อำนาจของราชอาณาจักรไทย อย่างกว้างใหญ่ไพศาล นับตั้งแต่ประเทศพม่าตอนใต้ทั้งหมด นั่นคือ จากฝั่งมหาสมุทรอินเดียทางด้านตะวันตก ไปจนถึงฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางด้านตะวันออก ทางด้านทิศใต้ตลอดไปถึงแหลมมลายู ทางด้านทิศเหนือก็ถึงฝั่งแม่น้ำโขงโดยตลอด และยังรวมไปถึงรัฐไทใหญ่บางรัฐ

ประวัติพ่อขุนผาเมือง

ใส่ความเห็น

พ่อขุนผาเมือง ปรากฏชื่อในหลักศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 2 ( จารึกวัดศรีชุม)
ทรงเป็นโอรสพ่อขุนนาวนำถุม ผู้ครองเมืองราด กษัตริย์ขอมยกพระราชธิดาคือพระนางสิงขรเทวีให้อภิเษกสมรสด้วย พระราชทานนามสถาปนาเป็น กมรเต็งอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์ และพระราชทานพระขรรค์ไชยศรี เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์
ต่อมาพระองค์ร่วมกับพ่อขุนบางกลางหาว ยึดเมืองสุโขทัยคืนจากขอมสมาสโขลญลำพง ทรงยกพ่อขุนบางกลางหาวเป็นกษัตริย์ พร้อมทั้งยกตำแหน่ง กมรเต็งอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์ อันเป็นการอภิเษกพระสหายให้เป็นกษัตริย์สุโขทัย
ถึงแม้ว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์จะไม่ชี้ชัดว่าเมืองราดอยู่บริเวณใด แต่ชาวเพชรบูรณ์สำนึกในคุณงามความดีของพ่อขุนผาเมืองที่มีต่อชาวไทย ทรงเป็นเจ้าเมืองผู้กอบกู้อิสรภาพกรุงสุโขทัยจากขอม ทรงเสียสละไม่เห็นแก่ลาภยศ อำนาจ โดยเสียสละให้พ่อขุนบางกลางหาวพระสหายเป็นกษัตริย์ครองกรุงสุโขทัย ชาวเพชรบูรณ์จึงพร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง เพื่อลำลึกถึงคุณงามความดีของพระองค์
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10มิถุนายน พ.ศ.2518 มอบให้กองหัตถศิลป กรมศิลปากร เป็นผู้สร้าง ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2520 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารได้เสด็จทรงไปประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง ณ สี่แยกพ่อขุน ตำบลน้ำชุน อำเภอหล่มสัก เมื่อสร้างพระรูปพ่อขุนผาเมืองเสร็จเรียบร้อยแล้ว ชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ได้อัญเชิญมาประดิษฐานบนพระแท่น เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2527 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดอนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง เพื่อเป็นศูนย์รวมพลังจิตใจของชาวเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ.2527
จากหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดเพชรบูรณ์ <a

ประวัติพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

ใส่ความเห็น

ราชวงศ์สุโขทัยมีประวัติปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 2 (จารึกวัดศรีชุม) ใจความว่า ผู้ตั้งราชวงศ์มี 2 คน ด้วยกัน คือ พ่อขุนผาเมือง และพ่อขุนบางกลางหาว ได้ช่วยกันตั้งราชวงศ์ขึ้นเมื่อพ.ศ. 1800 พ่อขุนผาเมืองเป็นลูกพ่อขุนศรีนาวนำถม ซึ่งเป็นเจ้าเมืองสุโขทัยในครั้งนั้นเมืองสุโขทัยยังเป็นเมืองประเทศราชของขอมอยู่

พ่อขุนผาเมืองนั้น พระเจ้ากรุงกัมพูชาพระราชทานนามว่า กมรเตงอัญศรีอินทรปตินทราทิตย์ และได้พระราชทานพระราชธิดาองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระนางสิงขรมหาเทวี พ่อขุนผาเมืองเป็นเจ้าเมืองราด ส่วนพ่อขุนบางกลางหาวนั้นเป็นเจ้าเมืองบางยาง (แต่เดิมนั้น เรียกชื่อพ่อขุนบางกลางหาวว่า บางกลางทาว หรือ บางกลางท่าว ต่อมา ดร. ประเสริฐ ณ นคร ตรวจสอบอักษรที่จารึกใหม่พบว่า แท้ที่จริง จารึกเขียนว่า บางกลางหาว เพราะที่อ่านกันแต่เดิมนั้น เข้าใจผิดไปว่าเป็น “ท ทหาร” ที่แท้คือ ” ห หีบ” และ”ไม้เอก” ก็ไม่มี) ครั้งนั้นเมืองสุโขทัยมีข้าหลวงเขมรชื่อ โขลญลำพง เป็นผู้รักษาเมืองหรือสำเร็จราชการอยู่ พ่อขุนบางกลางหาวเป็นมิตรสหายของพ่อขุนผาเมือง ทั้งสองได้ตั้งใจตีเมืองสุโขทัย พ่อขุนบางกลางหาวได้เมืองศรีสัชนาลัย ส่วนพ่อขุนผาเมืองเมื่อได้เมืองบางขลังแล้วก็นำพลมาทางเมืองราด เมืองศรีสัชนาลัยถึงเมืองสุโขทัย ข้าหลวงขอมไม่อาจสู้ได้ ต้องยอมแพ้และทิ้งเมืองสุโขทัยไป

เมื่อได้เมืองสุโขทัยแล้วพ่อขุนผาเมืองได้นำพลออกและได้อภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวให้เป็นเจ้าเมืองสุโขทัย ถวายพระนามตามพระนามของตนที่ได้รับพระราชทานจากพระเจ้ากรุงกัมพูชาว่า “กมรเดงอัญศรีอินทรปตินทราทิตย์” (ในตอนต้นศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง เรียกโดยย่อว่า ศรีอินทราทิตย์ เป็นพระนามพระราชบิดาของพ่อขุนรามคำแหง) พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์สุโขทัยนั้น ในหนังสือชินกาลมาลินี และสิหิงคนิทาน เรียกว่า โรจนราช หรือสุรางคราช คือ พระร่วง (สำหรับพระนามพระร่วงนี้มีหลักฐานไม่แน่ชัดว่า หมายจำเพาะเจาะจงว่าเป็นองค์ใด บ้างก็ว่าหมายถึงพระเจ้าศรีอินทราทิตย์ บ้างก็ว่า หมายถึงพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และบ้างก็ว่าหมายถึงกษัตริย์ทุกพระองค์ในราชวงศ์พระร่วง)

พระราชประวัติพ่อขุนรามคำแหงมหาราชตามความปรากฏในจารึกหลักที่ 1มีใจความว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์มีพระโอรสด้วยพระชายาพระนามว่า นางเสือง 3 องค์ พระองค์ใหญ่สิ้นพระชนม์เสียตั้งแต่ยังเยาว์ พระองค์กลางทรงพระนามว่า บาลเมือง (ในหนังสือชินกาลมาลินีและสิงคนิทาน เรียกว่า ปาลราช) องค์ที่สามได้เสวยราชย์ต่อมาทรงพระนามว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราช (ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงด้านที่ 2-3-4 และในคำนำไตรภูมิพระร่วงเรียกว่า รามราช)

พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงพระราชสมภพปีใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่นอน ตามหลักฐานพงศาวดารเมืองเหนือ คือ พงศาวดารเมืองโยนก กล่าวว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเป็นพระสหายสนิทและรุ่นราวคราวเดียวกับพญาเม็งราย เจ้าเมืองเชียงใหม่ และพญางำเมือง เจ้าเมืองพะเยา ทรงศึกษาเล่าเรียนอยู่ในสำนักสุกกทันตฤาษี ณ เมือง ละโว้ (ลพบุรี) เป็นศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกับพญางำเมือง ในขณะที่ทรงเล่าเรียนศิลปวิทยาอยู่ร่วมกันนั้นพญางำเมืองเจริญพระชันษาได้ 16 ปี

เมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ประกาศตั้งกรุงสุโขทัยเป็นอิสระแล้ว ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดได้ยกกองทัพมาตีเมืองตากอันเป็นเมืองหน้าด่านทางทิศตะวันตกของกรุงสุโขทัย พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ยกกองทัพออกไปสู้รบกับขุนสามชน และพระราชโอรสองค์ที่สามซึ่งเจริญพระชันษาย่างเข้า 19 ปี ทรงเป็นนักรบที่เข้มแข็งในการสงครามเข้าชนช้างชนะขุนสามชน พวกเมืองฉอดจึงได้แตกพ่ายไป เมื่อชนช้างชนะขุนสามชนคราวนั้นแล้ว พ่อขุนศรีอินทราทิตย์พระราชบิดาจึงพระราชทานเจ้ารามเป็น “พระรามคำแหง” ซึ่งคงจะหมายความว่าพระรามผู้เข้มแข็ง หรือ เจ้ารามผู้เข้มแข็ง

พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นกษัตริย์องค์ที่สามแห่งราชวงศ์พระร่วง ศักราชที่ปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1) คือ มหาศักราช 1205 (พ.ศ. 1826) นั้นเป็นปีที่พระองค์ได้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น มหาศักราช 1207 (พ.ศ. 1828) ทรงสร้างพระมหาธาตุเมืองศรีสัชนาลัย (เข้าใจว่า คือ พระเจดีย์ที่วัดช้างล้อม ในปัจจุบัน) มหาศักราช 1214 (พ.ศ. 1835) โปรดให้สร้างแท่นหิน ชื่อ พระแท่นมนังศิลาบาตร และสร้างศาลา 2 หลังชื่อ ศาลาพระมาสและพุทธศาลา ประดิษฐานไว้กลางดงตาล เพื่อเป็นที่ประทับว่าราชการและทรงสั่งสอนข้าราชการและประชาชนในวันธรรมดา ส่วนวันอุโบสถโปรดให้พระสงฆ์นั่งสวดพระปาติโมกข์และแสดงธรรม รัชสมัยของพระองค์รุ่งเรืองยิ่งกว่ารัชกาลใด ๆ ราชอาณาเขตแผ่ขยายไปกว้างขวาง ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขอย่างที่เรียกกันว่า “ไพร่ฟ้าหน้าใส” การพาณิชย์เจริญก้าวหน้า ศิลปวิทยาเจริญรุ่งเรืองหลายประการ

ประวัติพ่อขุนบางกลางหาว

ใส่ความเห็น

พระราชประวัติพ่อขุนศรีอินทราทิตย์
พระบรมนามาภิไธย พ่อขุนบางกลางหาว (เจ้าเมืองบางยาง)
พระปรมาภิไธย กำมรเตงอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์
ราชวงศ์ ราชวงศ์พระร่วง
ระยะครองราชย์ ไม่ทราบ
พระมเหสี พระนางเสือง
พระราชโอรส/ธิดา มีพระราชโอรสและพระธิดารวม 5 พระองค์

พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ หรือพระนามเต็ม กำมรเตงอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์ พระนามเดิม พ่อขุนบางกลางท่าว ทรงเป็นปฐมวงศ์ราชวงศ์พระร่วงแห่งอาณาจักรสุโขทัย ครองราชสมบัติ ตั้งแต่ พ.ศ. 1792 (คำนวณศักราชจากคัมภีร์สุริยยาตรตามข้อเสนอของ ศ. ประเสริฐ ณ นครและ พ.อ.พิเศษ เอื้อน มณเฑียรทอง) แต่ไม่ปรากฏหลักฐานการสวรรคตหรือสิ้นสุดการครองราชสมบัติปีใด

พระนาม
1.บางกลางหาว
2.ศรีอินทราทิตย์
3.อรุณราช
4.ไสยรังคราช หรือสุรังคราช หรือไสยนรงคราช หรือรังคราช
5.พระร่วง หรือโรจนราช
สำหรับพระนามแรก คือ พ่อขุนบางกลางหาวนั้น เป็นพระนามดั้งเดิมเมื่อครั้งเป็นเจ้าเมืองบางยาง พระนามนี้ไม่มีปัญหาอะไรมากนัก และเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า พ่อขุนบางกลางหาวเป็นพระนามสมัยเป็นเจ้าเมืองบางยางโดยแท้จริง

พระนามที่สองนั้น เป็นพระนามที่ใช้กันทางราชการ เป็นพระนามที่เชื่อกันว่าทรงใช้เมื่อราชาภิเษกแล้ว คำว่าศรีอินทราทิตย์นั้น ไมมีปัญหา เพราะมีบ่งอยู่ในศิลาจารึก แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือ คำที่นำหน้า คำว่า “ศรีอินทราทิตย์” เพราะเรียกแตกต่างกันไปว่า ขุนศรีอินทราทิตย์บ้าง พ่อขุนศรีอินทราทิตย์บ้าง พระเจ้าศรีอินทราทิตย์บ้าง และบางทีก็เรียกพระเจ้าขุนศรีอินทราทิตย์